Steelers tickets

หน้าที่ 2 ::: หน้าที่ 3 ::: หน้าที่ 4 ::: หน้า 5


    มี
เพื่อนครูหลายคนสอบถามถึงขั้นตอน/วิธีการ การสร้างและพัฒนาสื่อ/นวัตกรรม จึงอยากเล่าให้ฟัง ตั้งใจว่าจะให้เข้าใจง่ายที่สุด  แต่จะได้ขนาดไหนลองติดตามดูนะครับ

            เนื่องจากสื่อฯ มีหลายรูปแบบ  เรื่องแรกเลยคือประเภทของสื่อที่เราเลือก โดยหลักการแล้วจะต้องเลือกประเภทของสื่อให้เหมาะสมกับเด็ก เหมาะสมกับเนื้อหา/ธรรมชาติวิชาของกลุ่มสาระที่รับผิดชอบ(ในความเป็นจริงต้องเลือกที่เราถนัด/ทำได้ด้วย) ถ้าในสภาพปัจจุบันสื่อประเภท ICT จัดว่าเป็นสื่อที่ทันสมัยและยังอยู่ในช่วงที่เรียกว่า แปลกใหม่สำหรับนักเรียน(รวมถึงคนตรวจ)  อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปถึงสื่อ ICT  ตัวเนื้อหาก็ต้องมาจากเอกสารอยู่ดี  ในที่นี้จึงขอแนะนำสื่อประเภทเอกสารประกอบการสอน(บางสำนักเรียกเอกสารประกอบการเรียน) ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่สื่อ ICT ได้

            ขั้นตอนการสร้าง

            ก่อนอื่นต้องศึกษารูปแบบ/องค์ประกอบของเอกสารประกอบการสอนก่อน ซึ่งมีนักวิชาการหลายท่านเขียนไว้แล้ว แต่โดยรวมสื่อประเภทนี้ควรจะต้องมี
แบบทดสอบก่อนเรียน..เนื้อหา(เป็นเรื่องๆ)..แบบฝึก(แต่ละเรื่อง)..แบบทดสอบหลังเรียน  ส่วนที่นับว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องได้มาตรฐานตามหลักวิชาคือ แบบทดสอบมีคุณภาพ  เนื้อหาถูกต้องตามหลักวิชา  สื่อฯผ่านการทดลองใช้เพื่อหาประสิทธิภาพ  ซึ่งมีวิธีการพัฒนาดังนี้

            ก่อนลงมือทำ ขั้นแรก ต้องศึกษาหลักสูตร มาตรฐานการเรียนรู้ มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง หลักการ/จิตวิทยาการเรียนรู้ รวมถึงความแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง  แล้วรวบรวมเนื้อหาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ นำมาเรียบเรียงใหม่ให้สอดคล้องกับที่กล่าวมา จากนั้นจัดทำแบบฝึก(หรือจะใช้คำในชื่ออื่นเช่นแบบฝึกหัดก็ได้) และแบบทดสอบ(เพื่อใช้สำหรับเป็นแบบทดสอบก่อนเรียน/หลังเรียน-โดยจัดทำจำนวนข้อสอบให้มีจำนวนมากกว่าจำนวนที่เราต้องการไว้ก่อน) สุดท้ายของขั้นนี้คือเตรียมจัดลำดับรูปเล่มของเอกสารไว้(พร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไข) 
            นี่เป็นขั้นตอนเบื้องต้น ลำดับต่อไป เตรียมนำเครื่องมือไปหาคุณภาพ ในที่นี้ ได้เครื่องมือ 2 ประเภท คือ เครื่องมือที่ใช้ทดลอง(สื่อเอกสารประกอบการเรียน) กับเครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูล(แบบทดสอบ)

            หาคุณภาพของแบบทดสอบ
        
            1) การหาค่าความตรง(Validity) ที่นิยมคือ การหาความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3-5 คน ด้วยวิธีคำนวณค่าดัชนีของความสอดคล้อง(IOC)
            2) การหาค่าความยากง่าย(P)และค่าอำนาจจำแนก(r)  วิธีการคือนำแบบทดสอบที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเนื้อหาของสื่อ และมีจำนวนมากกว่าข้อสอบที่จะใช้ในสื่อ  นำไปทดสอบกับนักเรียนระดับเดียวกัน(ที่ไม่ใช่กลุ่มที่จะใช้สื่อ) ตามหลักวิชาบอกว่าจำนวนนักเรียนที่นำข้อสอบไปทดสอบต้องมากกว่า 100 คน(บางตำรา บอก 30 คนก็ได้) จากนั้นนำผลการสอบมาคำนวณหาค่า P,r ถ้าทำเองไม่ได้ก็ต้องจ้างคนทำ(ทำเองก็ไม่ยากมีโปรแกรมฟรีของ อ.สาคร  แสงผึ้ง http://www.nitesonline.net/  ผู้เขียนทดลองแล้วไม่ยาก)  เมื่อได้ผลการคำนวณแล้วก็นำข้อสอบมาเลือกข้อที่ใช้ได้ (ค่า P ระหว่าง .20-.80 ที่ดีที่สุดคือ .50 ,ค่า r มีค่า .20 ขึ้นไป ค่านี้ยิ่งมากยิ่งดี) ตามจำนวนที่เราจะใช้ในสื่อของเรา แล้วเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้ใช้ในการเขียนรายงาน
            3) หาค่าความเที่ยง(Reliability) หรือความเชื่อมั่น โดยนำแบบทดสอบที่ได้จากข้อ1-2 ไปทดสอบกับนักเรียนกลุ่มอื่นอีกครั้ง จากนั้นก็นำมาหาค่าความเที่ยงโดยใช้สูตร KR-20 หรือ KR-21 ของคูเดอร์ ริชาร์ดสัน(สำหรับแบบทดสอบที่ให้คะแนนเป็น 0 กับ 1)
           
            (แบบทดสอบที่ได้นี้ใช้เป็นทั้งแบบทดสอบก่อนเรียน/หลังเรียน แต่สลับข้อหรือสลับตัวเลือก หรือทั้งสองอย่าง)

            ต่อไปจัดทำต้นฉบับ อันนี้ก็ต้องมีตามรูปแบบ ซึ่งควรได้แก่

ปกนอก...ปกใน...คำนำ...สารบัญ...คำชี้แจง...แบบทดสอบก่อนเรียน...เนื้อหา(ใบความรู้)...แบบฝึก...เนื้อหา(ใบความรู้)...แบบฝึก...
แบบทดสอบหลังเรียน

เอกสารอ้างอิง...ภาคผนวก(ถ้ามี..อาจเป็นเฉลย/คู่มือครู-ส่วนนี้จะตัดออกถ้าเป็นเอกสารสำหรับนักเรียน หรือจัดทำคู่มือครูแยกต่างหากก็ได้)

            เมื่อได้ต้นฉบับแล้วเราต้องนำไป
            หาประสิทธิภาพของสื่อ

            วิธีการ อย่างง่ายเลยคือนำสื่อ(เอกสารประกอบการสอน)พร้อมแบบตรวจหรือประเมินไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิ(คศ.3 หรือ ป.โท สาขาเรา..บางคน
เรียก ผู้เชี่ยวชาญ) 3 หรือ 5 คนดูความตรงเชิงเนื้อหา (แบบตรวจหรือประเมินเท่าที่พบมี สองแบบ คือ แบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ กับ ค่าดัชนีของความสอดคล้อง IOC 3 ระดับ) ตรงนี้ก็เรียกได้ว่า หาค่าความตรง(หรือความเที่ยงตรง)ของเครื่องมือ

            ถ้าจะให้แน่นอนขึ้นอีกก็ต้องนำสื่อนี้ไปทดลองใช้จริงกับนักเรียนที่ไม่ใช่กลุ่มที่เราจะทดลอง  อย่างน้อย  30 คน(ตามตำรา) แล้วนำผลมาหาค่า E1/E2 (หารายละเอียดจากหนังสือวิจัย)  เมื่อได้ค่า E1/E2 มากกว่าที่เราตั้งไว้(ปกติตั้งกันที่ 80/80) ก็ถือว่า สื่อนี้ผ่านการหาประสิทธิภาพค่อนข้างสมบูรณ์ หรือยอมรับได้  จึงสามารถนำไปใช้ได้กับกลุ่มตัวอย่างจริง ๆ (จะว่าไป วิธีการนี้ บางคนไม่ยอมรับเพราะเชื่อได้ยากว่าทำตามหลักวิชาจริง แต่อย่างน้อยควรทดลองใช้ก่อนเพื่อหาข้อบกพร่อง)

         ที่เล่ามาเป็นกระบวนการคร่าว ๆ (ซึ่งไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย)ในการจัดทำสื่อประเภทเอกสาร ที่สามารถนำไปใช้จริงได้ที่อยู่ในรูปของสื่อ"เอกสารประกอบการสอน"   
หากว่าเราต้องการนำไปพัฒนาเป็นสื่อ ICT ก็ทำได้เลยเนื่องจากมีโครงสร้าง เนื้อหาครบถ้วนแล้ว(สื่อเว็บเพจที่ผู้เขียนนำเสนอก็ล้วนมาจากเอกสารทั้งสิ้น) แต่...เมื่อเป็นสื่อ ICT แล้ว
ก็ต้องนำไปหาประสิทธิภาพของสื่อตามวิธีการข้างต้นใหม่(ให้ผู้ทรงคุณวุฒิดู..หา E1/E2)   และถ้าคิดจะส่งเป็นผลงานทางวิชาการต้องเก็บข้อมูลทุกอย่างตั้งแต่เริ่มทำจนสิ้นสุดการใช้ไว้เพื่อเป็นข้อมูลในการเขียนรายงาน

         จะเห็นว่าการหาคุณภาพของแบบทดสอบ, การหาประสิทธิภาพของสื่อ เป็นเรื่องสำคัญที่จะบ่งบอกว่าเมื่อนำสื่อนั้นไปใช้แล้วจะเกิดประสิทธิผลได้จริง ผู้สร้างจึงละทิ้งขั้นตอนนี้ไม่ได้หากจะส่งสื่อนั้นเป็นผลงานทางวิชาการ

        ข้อที่ควรคำนึง
        -การพิจารณาเลือกสื่อ/นวัตกรรมใด ๆ ต้องคำนึงถึงว่าสื่อหรือนวัตกรรมนั้น มีหลักการ/ทฤษฎีรองรับ(ข้อนี้สำคัญ เพราะจะช่วยให้เขียนรายงานฯ ง่ายขึ้น)
        -มาตรฐานคุณภาพของสื่อหนึ่ง ๆ นอกจากจะอยู่ที่ความถูกต้องตามหลักวิชาแล้ว  ความสวยงาม น่าสนใจ แปลกใหม่ ก็เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ต้องพิจารณา

หน้าที่ 2 ::: หน้าที่ 3 ::: หน้าที่ 4 ::: หน้า 5